โรคของข้าวสาลี

โรคต้นแห้ง (seedling blight)
    เกิดจากเชื้อราชื่อ Sclerotium rolfsii โรคนี้จะมีอาการให้เห็น โดยเชื้อราสร้างเม็ดขยายพันธุ์บนส่วนของรากพืช ทำให้ต้นกล้าข้าวสาลีตาย เป็นมากในสภาพน้ำขัง ป้องกันได้ โดยใช้สารเคมีคาร์บ็อกซินคลุกเมล็ดก่อนปลูก หรือปรับดินไม่ให้เป็นกรด โดยใส่ปูนขาว หรือปูนมาร์ล ในอัตรา ๓๐๐-๕๐๐ กิโลกรัม/ไร่
โรคใบจุดสีน้ำตาล (spot blotch)
เกิดจากเชื้อราชื่อ Helminthosporium sativum ทำให้เกิดอาการโคนเน่าและรากเน่า ถ้าต้นไม่ตาย ใบจะมีแผลเป็นจุดสีน้ำตาล ข้าวสาลีที่เป็นโรคนี้ อาจออกรวง โดยไม่ติดเมล็ดเลย หรือติดเมล็ดบ้างแต่เมล็ดลีบ ป้องกันโรคนี้ได้โดยปลูกพันธุ์ต้านทาน ปลูกพืชหมุนเวียน และใช้สารเคมีคลุกเมล็ดก่อนปลูก

โรคราสนิมใบ (leaf rust)
เกิดจากเชื้อราชื่อ Puccinia recondita มักพบในฤดูปลูกข้าวสาลีที่มีอากาศร้อนชื้น มีแผลเกิดขึ้นบนใบ และกาบใบ แผลมีสีส้มเข้ม ซึ่งเป็นสีสปอร์ที่เชื้อราสร้างขึ้นมา อาการของโรคจะเริ่มปรากฏจากใบล่างๆ แล้วลามขึ้นไปทางยอด ใบที่เป็นโรคจะตายไป

โรคราเขม่า (loose smut)
เกิดจากเชื้อราชื่อ Ustilage tritici รวงข้าวสาลีที่เป็นโรคนี้จะมีสปอร์สีดำขึ้นเต็มรวง เมื่อเป็นมากส่วนต่างๆ ของเมล็ดและดอกข้าวสาลีจะกลายเป็นฝุ่นลอยไปในอากาศ เหลือไว้แต่แกนรวงเปล่าๆ

ป้องกันโรคนี้ได้ โดยเอาเมล็ดแช่น้ำร้อนก่อนปลูก หรือใช้พันธุ์ต้านทานโรค

โรคราแป้ง (Powerdery wildew)
เกิดจากเชื้อราชื่อ Erysiphe graminis f. sp. trilici อาการของโรคเกิดที่ใบและกาบใบ ที่แผลใบจะมีลักษณะเป็นสีขาวหรือเทา ซึ่งเป็นเส้นใยและเมล็ดขยายพันธุ์ของเชื้อรา ใบและกาบใบจะมีสีเหลืองหรือน้ำตาล ต้นจะแกร็นและอาจไม่ออกรวง ถ้าออกรวงเมล็ดที่ได้จะลีบกว่าปกติ ป้องกันโรคนี้ได้โดยปลูกพันธุ์ต้านทาน

โรครวงแห้ง (scab)
เกิดจากเชื้อราชื่อ Fusarium sp. โรคนี้สามารถเข้าทำลายต้นข้าวสาลีได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ทำให้ต้นเน่าหรือแห้งตายไป ถ้าอยู่รอดถึงออกรวง จะทำให้รวงแห้ง อาจได้เมล็ดบ้าง แต่เมล็ดที่ได้จะลีบสีเมล็ดซีด ป้องกันได้โดยปลูกพืชหมุนเวียน ใช้สารเคมีคลุกเมล็ด หรือใช้พันธุ์ต้านทานโรค

โรครากปม (root knot)
เกิดจากไส้เดือนฝอยรากปมชื่อ Meloidogyne graminicola เข้าทำลายรากข้าวสาลี ทำให้ต้นข้าวสาลีเกิดอาการแคระแกร็น และเมล็ดลีบ ป้องกันได้โดยปลูกพันธุ์ต้านทานโรค ปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกดาวเรืองป่าแซมในแปลงข้าวสาลี ใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาด และเพิ่มการใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ลงในดิน

เกี่ยวกับ angkanafon

ไม่ขอให้เวลานี้เป็นของเรา .
ข้อความนี้ถูกเขียนใน Uncategorized คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น